บริษัท เจ.ที.ที. คอนสตรัคชั่น แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินงานด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รับทำโครงสร้าง ติดตั้งปั๊ม งานประปา งานเดินท่อ HDPE งานไฟฟ้า และงานปลูกต้นไม้ รวมถึงดำเนินงานธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์สิ้นเปลืองในระบบอุตสาหกรรม โดยเรามุ่งเน้นการทำงานอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า  และเราคัดสรรแต่วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เพราะหัวใจของเราคือความต้องการของลูกค้า ฉะนั้นเราจึงมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาองค์กรเพื่อความเจริญเติบโตควบคู่ไปกับคุณภาพของงาน
หลายคนตั้งคำถาม บางคนถึงกับเอามาเล่นเป็นมุกตลกกับประโยคที่ว่า “กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเหลืออะไรที่บอกได้ว่า ‘ดี’ บ้างในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ก็อย่าเพิ่งหมดหวังไปครับ สิ่งดีๆ บางอย่างก็มักเหมือนเส้นผมบังภูเขา หากไม่เอาใจใส่มองเสียหน่อยก็คงไม่ทันสังเกตเห็น

ในฐานะที่ปีนี้เทรนด์การปลูกต้นไม้กลับมาได้รับความนิยม โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 นอกจากต้นไม้ที่เราหันมาสนใจปลูกในบ้านแล้ว เราอยากให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้รอบพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ที่หลายคนเคยเดินหรือนั่งรถผ่านกันด้วยว่าแท้จริงแล้วเรามีการอนุรักษ์และดูแลต้นไม้กันดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากที่สำรวจเราอาจพบว่าแม้จะมีต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กลางเมืองเหลืออยู่ไม่มาก แต่หากขยับออกมาทางโซนพระนครนั้นจะพบว่าเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เหตุผลหนึ่งอาจเพราะฐานะที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่ามาก่อน และต้นไม้ใหญ่กับความเชื่อของคนเป็นของคู่กัน ดังที่เห็นได้ว่าต้นไม้ใหญ่หลายต้นมักอยู่ในพื้นที่วัดที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทางวัดรวมถึงคนในชุมชน อีกทั้งยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตและขยายตัวของเมืองหลวง

แม้ทุกวันนี้คุณค่าของต้นไม้ใหญ่จะไม่ได้ถูกพูดถึงสักเท่าไร นอกจากการบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มหรือคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน แต่ต้นไม้เหล่านั้นก็สามารถยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้นับร้อยปี เราจึงอยากชวนมาสำรวจและทำความรู้จักกันว่าต้นไม้เก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปีในเขตพระนครนั้นมีอยู่ที่ไหนกันบ้าง

ต้นมะขามคู่ยักษ์วัดแจ้ง วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร (วัดแจ้ง)
ต้นมะขามคู่นี้ยืนต้นตระหง่านเคียงคู่กับยักษ์ประจำวัดแจ้ง 2 ตน ฝั่งซ้ายคือทศกัณฐ์ ส่วนฝั่งขวาคือสหัสเดชะ เป็นทัศนียภาพที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือข้ามฟากจากฝั่งเมืองหลวงสามารถเห็นได้จนชินตา ทว่าต้นมะขามคู่นี้ไม่ได้ปลูกขึ้นพร้อมกัน อ้างอิงจากภาพวาดและภาพถ่ายเก่าในหนังสือเรื่อง ‘การเดินทางในไทย กัมพูชา และลาว, 1858-1860 โดย อองรี มูโอต์ [1]’ ระบุว่าในปี 2410 มีต้นมะขามฝั่งซ้ายหรือฝั่งเดียวกับทศกัณฐ์เพียงแค่ต้นเดียว และมีมาก่อนปี 2401 แล้ว ส่วนต้นมะขามอีกต้นทางฝั่งสหัสเดชะ สันนิษฐานว่าน่าจะปลูกขึ้นภายหลัง ดังที่ปรากฏในภาพโปสการ์ดสมัยรัชกาลที่ 7 (2468-2477)



ต้นตะเคียนทองเรือรบ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ริมถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม หน้าวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร มีต้นตะเคียนทองขนาดใหญ่เรียงรายต่อเนื่องกัน มีความสูงหลายสิบเมตร จากประวัติความเป็นมาระบุว่าต้นตะเคียนทองเหล่านี้ถูกนำมาปลูกริมคลองหลอดในสมัยรัชกาลที่ 1 จำนวนมากเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุต่อเรือรบสำหรับใช้ในราชการสงคราม และถูกตัดไปจนทิ้งเหลือไว้แค่ 5 ต้นสุดท้ายเท่านั้น ภายหลังเริ่มก่อสร้างวัดราชบพิธฯ จึงรื้อโรงเรือเดิมออกไป โดยอ้างอิงจากสำเนาพระราชโองการพระราชทานกัปปิยอุปจาครั้งที่ 2 ตอนหนึ่งว่า “แต่ที่ต่อนั้นมาจนถึงคลองซึ่งเป็นโรงเรือ แลเป็นที่ญาติโยมของพระสงฆ์พักอาศัยอยู่ บัดนี้ญาติโยมของพระสงฆ์ก็ไม่ได้อยู่อาศัย โรงเรือก็เรื้อเสียแล้ว” ทางกรุงเทพมหานครจึงรับหน้าที่ดูแลต้นตะเคียนทองเหล่านี้ในฐานะหนึ่งในต้นไม้สำคัญของกรุงเทพมหานคร ทว่าล่าสุดเมื่อ 2-3 ปีก่อนเพิ่งจะถูกฟ้าผ่าตายไปอีกต้น ปัจจุบันจึงเหลือต้นตะเคียนทองเพียง 4 ต้นสุดท้ายเท่านั้น



ต้นโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่หน้าตึกคณะสังคมศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นต้นไม้สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของนักศึกษาธรรมศาสตร์และประชาชน โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่าง 14 ตุลา และ 6 ตุลา รวมถึงการเรียกร้องอีกหลายๆ ครั้ง โดยพื้นที่นี้ถูกเรียกว่าลานโพธิ์ ส่วนประวัติของต้นโพธิ์นั้นเชื่อกันว่าน่าจะเป็นต้นที่ติดมากับที่ดินแต่เดิมที่สืบต่อมาจากกระทรวงกลาโหม เรียกได้ว่ามีมาก่อนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะสร้างขึ้นในปี 2477 จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากกว่าร้อยปีอีกต้น ปัจจุบันต้นโพธิ์ต้นนี้ยังคงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เรื่อยไป



ต้นกร่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร
ต้นไม้สูงใหญ่เป็นที่เตะตาของนักศึกษาในรั้วศิลปากร วังท่าพระ คือต้นกร่าง (หรืออาจได้ยินนักศึกษาเรียกกันว่าปู่กร่าง) ตั้งอยู่หน้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เราเห็นเพียงลำต้นขนาดใหญ่ยืดสูงขึ้นไปถึงยอดกว่า 25 เมตร ตั้งเด่นปกคลุมอาคารโดยรอบ แต่ส่วนรากนั้นกลับถูกเทปูนทับเพื่อทำเป็นถนนให้นักศึกษาเดินผ่าน (ปัจจุบันบริเวณนี้ปิดซ่อมแซมอยู่) รวมถึงลำต้นบางส่วนก็ผุตายเสื่อมสลายตามกาลเวลา จึงต้องมีการเทปูนเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ต้นกร่างและป้องกันการหักโค่นลงมา ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่าต้นกร่างปลูกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนที่วังท่าพระจะกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร สังเกตได้จากภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ปรากฏให้เห็นต้นกร่างนี้อยู่กับวังท่าพระแล้ว คาดว่าน่าจะมีอายุเกิน 100 ปี แถมล่าสุดต้นกร่างยังได้รับรางวัลชนะเลิศให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครอีกด้วย



ต้นโพธิ์ ชุมชนท่าวัง
ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากรคือชุมชนท่าวังที่มีต้นโพธิ์ใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้า เป็นต้นไม้เก่าแก่ของชุมชนข้าราชบริพารวังหลวงและวังท่าพระในสมัยก่อน แม้จะมีการจัดระเบียบบริเวณริมทางเท้าไล่มาตั้งแต่ท่าเรือท่าช้างในช่วง 4-5 ปีนี้ก็ตาม แต่ปัจจุบันยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในชุมชนท่าวังนี้ และหวังว่าต้นโพธิ์ต้นนี้จะไม่ถูกตัดทิ้งซ้ำรอยเดิมกับชุมชนอื่นๆ



ต้นไทร มิวเซียมสยาม
นอกจากมิวเซียมสยามจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว สิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวและความเป็นมาได้ดีไม่แพ้กันคือต้นไทรขนาดใหญ่ 2 ต้นที่ตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้าและด้านข้างอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีประวัติของต้นไทรสองต้นระบุชัดเจน แต่สังเกตจากขนาดของต้นไม้แล้วก็พอระบุได้ว่ามีอายุหลายสิบปีและอาจถึงร้อยปีเลยทีเดียว



ต้นไทรและต้นจามจุรี สวนสราญรมย์
สวนสราญรมย์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ปี 2417 แต่เดิมเคยเป็นเขตพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ ก่อนที่จะส่งต่อมาถึงมือของคณะราษฎรในฐานะที่ทำการในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 และผ่านมาถึงมือของประชาชนให้เข้าไปใช้เป็นสวนสาธารณะในภายหลัง จึงคาดว่าต้นไม้ใหญ่ทั้งในและนอกสวนสราญรมย์เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน เช่น ต้นไทรขนาดใหญ่ด้านหน้า ฝั่งตรงข้ามกรมรักษาดินแดน และต้นจามจุรี (อีกชื่อคือต้นฉำฉา) ต้นใหญ่ใจกลางสวนสราญรมย์



ต้นโพธิ์และต้นจัน วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
วัดราชาธิวาสสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2310 ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 วัดแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จนมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชาธิวาสราชวรวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในบริเวณวัดมีต้นไม้ใหญ่มากมายที่เติบโตมาเคียงคู่กับการก่อสร้างวัด แต่ต้นไม้ที่มีความสำคัญและมักถูกพูดถึงเป็นประจำคือต้นโพธิ์ลังกาจากประเทศศรีลังกาที่รัชกาลที่ 2 ทรงปลูกไว้ เป็นต้นโพธิ์คู่ที่ปลูกไว้ทั้งสองด้านของพระอุโบสถ มีอายุราว 200 ปี และต้นไม้ใหญ่อีกต้นคือต้นจัน หลายคนอาจไม่เคยเห็น เนื่องจากต้นจันตั้งอยู่บริเวณด้านหลังกุฏิของคณะเหนือ ซึ่งเป็นเขตสังฆาวาส แต่เป็นต้นไม้เก่าแก่ที่มีอายุราว 200 ปี สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านปกคลุมกุฏิรอบข้าง



ต้นโพธิ์ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
หลายคนไปเที่ยวถนนข้าวสารอาจเดินผ่านวัดชนะสงครามโดยไม่รู้ว่ามีต้นไม้ที่มีอายุกว่า 200 ปีตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัด แม้จะเดินอยู่ในซอยรามบุตรีก็ยากจะเห็น แต่เดิมต้นไม้นี้มีป้ายปักไว้ว่า ‘ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์อายุ 200 ปี’ อยู่เคียงคู่กับวัดชนะสงครามมาเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา จึงยากที่จะระบุได้ว่าต้นโพธิ์ปลูกขึ้นในช่วงไหน ปัจจุบันภายในวัดกำลังบูรณะอยู่ จึงทำให้ผู้คนที่เคยมีหายไปเช่นเดียวกับถนนข้าวสารในเวลานี้



ต้นโพธิ์ วัดมหรรณพารามวรวิหาร
ต้นโพธิ์ต้นนี้แม้จะไม่ได้ดูสมบูรณ์เติบใหญ่เหมือนกับต้นอื่นๆ แต่ก็มีอายุเกินกว่า 100 ปี เพราะเป็นต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงปลูกด้วยพระองค์เอง ตั้งอยู่ด้านหลังศาลาวิปัสสนา โดยมีกิ่งก้านแตกออกเป็นสองกิ่ง กิ่งหนึ่งแห้งตายไร้ใบตามอายุขัย ในขณะที่อีกกิ่งยังอุดมไปด้วยก้านและใบโพธิ์ปกคลุมทั่วทั้งต้น



ต้นโพธิ์ ป้อมมหากาฬ
แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬริมคลองแสนแสบ ซึ่งใช้บริเวณลานใต้ต้นโพธิ์ดังกล่าวเป็นที่ชุมนุมนัดหมายของคนในชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมบวงสรวงต่างๆ ทว่าปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมความงดงามของต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพมหานครที่เหลืออยู่ไม่กี่ต้นเท่านั้น



ต้นจัน วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
หลายคนอาจสับสนได้ว่าทำไมชื่อโพธิฆระจึงกลายมาเป็นต้นจัน เนื่องจากแต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยปลูกต้นโพธิ์ลังกาที่รัชกาลที่ 5 นำมาจากประเทศศรีลังกา พันธุ์พุทธคยา จนกระทั่งมีอายุครบ 100 ปีก็เสื่อมและตายลงไปตามอายุขัย จากนั้นรัชกาลที่ 9 ทรงนำต้นจันมาปลูกแทนที่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2526 ในวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตหรืออายุเป็นร้อยปี แต่ถ้ารวมต้นโพธิ์ที่เคยปลูกไว้ก่อนหน้านี้ก็นับได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน



ที่มา https://thestandard.co/trees-over-100-years-old-in-bkk